Custom Search

บทความที่ได้รับความนิยม

วันพฤหัสบดีที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ปรากฏการณ์แมงกะพรุน (ถ้วย)

ภาพแมงกะพรุนถ้วยจำนวนมาก  เป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ  ไม่ได้มีนัยสำคัญอื่นๆ  เพราะตามธรรมชาติแล้ว ในช่วงปลายฝนต้นหนาว  มีแสงแดดดี แมงกะพรุนจึงขึ้นมารับแสงแดด ในขณะที่อาหารก็อุดมสมบูรณ์  จึงเอื้อต่อการขยายพันธุ์ของแมงกะพรุน โดยแมงกะพรุนชนิดนี้จะโตเต็มวัย มีอายุประมาณ 1 ปี  นี่จึงเป็นสัญชาตญาณของสัตว์ที่กลายเป็นสัญลักษณ์บอกได้ว่าสภาพอากาศขณะนี้  กำลังเข้าสู่ฤดูหนาวแล้ว

ตามที่กระแสสื่อออนไลน์ว่ามีแมงกะพรุน (ถ้วย) สีจำนวนมากที่หาดราชการุณย์ ต.แหลมกลัด อ.เมือง จ.ตราด ทำให้นักท่องเที่ยวแตกตื่นแห่เดินทางมาเที่ยวชมที่หาดราชการุณย์จำนวนมากพร้อมกับจับจองห้องพักในศูนย์ราชการุณย์จนห้องเต็มทั้งหมด

ผู้จัดการศูนย์ราชการุณย์สภากาชาดไทยเขาล้าน เปิดเผยว่า ตั้งแต่เช้าวันนี้มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาที่หาดราชการุณย์ หลังทราบข่าวมีแมงกะพรุนถ้วยสีจำนวนมาก ลอยมาติดชายฝั่ง แมงกะพรุนดังกล่าวถูกคลื่นซัดเข้าใกล้ฝั่งมีทั้งสีขาว สีน้ำตาล สีเหลือง สีฟ้า สีน้ำเงิน รวมทั้งสีน้ำตาลหางลาย แต่ส่วนใหญ่จะเป็นสีขาวเป็นหลัก สร้างความตื่นเต้นให้นักท่องเที่ยวที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อน ซึ่งเป็นเรื่องประหลาดแมงกะพรุนหลากสีสันเช่นนี้มารวมกัน จึงพากันถ่ายรูปเก็บไว้เป็นที่ระลึก

การพบแมงกะพรุนถ้วยสืบเนื่องจากนักวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เดินทางมาทำโครงการให้กับศูนย์สภากาชาดไทยเขาล้าน เมื่อ 2 วันที่ผ่านมา ลงเรือที่คลองเขาล้านไปเก็บข้อมูลบริเวณหน้าทะเลและพบแมงกะพรุนถ้วยหลากสีจำนวนมากลอยอยู่ปากคลองหน้าทะเลเขาล้านนับหมื่นตัว จึงถ่ายรูปเก็บไว้และได้โพสต์ลงเฟซบุ๊กจนเป็นข่าวแพร่ไปตามสื่อออนไลน์ ทำให้นักท่องเที่ยวสนใจติดต่อมาที่ศูนย์ฯ จองห้องพักจนขณะนี้เต็มหมดแล้วเหลือเพียงเนื้อที่กางเต็นท์

"เป็นเรื่องปกติที่แมงกะพรุนถ้วยสีจะออกมาในช่วงเดือนต.ค.ถึงพ.ย. ช่วงปลายฝนต้นหนาวจะมาทุกปีจะมีมากมีน้อยเท่านั้น ส่วนที่เป็นสีฟ้าสีน้ำเงินและสีอื่นๆ นั้น ทราบว่าอยู่ที่อุณหภูมิน้ำเปลี่ยนและสายพันธุ์ของแมงกะพรุนหลายชนิด แต่ไม่เป็นอันตรายร้ายแรงอาจจะเกิดอาการคันบ้างเมื่อสัมผัส แต่ก็สามารถใช้ผักบุ้งทะเลที่อยู่ตามชายหาดมาบีบคั้นแก้อาการคันได้ โดยทาไปที่บริเวณที่ได้สัมผัสกับแมงกะพรุน"

แมงกะพรุน (อังกฤษ: Jellyfish, Medusa) จัดอยู่ในประเภทสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง ไฟลัมไนดาเรีย ไฟลัมย่อยเมดูโซซัว แบ่งออกเป็นอันดับได้ 5 อันดับ (ดูในตาราง) ลักษณะลำตัวใสและนิ่มมีโพรงทำหน้าที่เป็นทางเดินอาหารมีเข็มพิษที่บริเวณหนวดที่อยู่ด้านล่าง ไว้ป้องกันตัวและจับเหยื่อ เมื่อโตเต็มวัย ส่วนประกอบหลักในลำตัวเป็นน้ำร้อยละ 94-98 ด้านบนเป็นวงโค้งคล้ายร่ม ด้านล่างตอนกลางเป็นอวัยวะทำหน้าที่กินและย่อยอาหาร พบได้ในทะเลทุกแห่งทั่วโลก

แมงกะพรุนส่วนใหญ่จัดอยู่ในชั้นไซโฟซัว แต่ก็บางประเภทที่อยู่ในชั้นไฮโดรซัว อาทิ แมงกะพรุนไฟหมวกโปรตุเกส (Physalia physalis) ซึ่งเป็นแมงกะพรุนที่มีพิษร้ายแรงที่สุดในโลก และแมงกะพรุนอิรุคันจิ (Malo kingi) ที่อยู่ในชั้นคูโบซัว ก็ถูกเรียกว่าแมงกะพรุนเช่นกัน

ลำตัวด้านบนของแมงกะพรุนมีลักษณะคล้ายร่ม เรียกว่า Medusa ซึ่งศัพท์คำนี้ก็ใช้เป็นอีกชื่อหนึ่งของแมงกะพรุนด้วยเช่นกัน

แมงกะพรุนเป็นสัตว์ที่ถือกำเนิดขึ้นมาแล้วกว่า 505 ล้านปีแมงกะพรุงวงจรชีวิตที่ขยายพันธุ์ได้ทั้งแบบอาศัยเพศและไม่อาศัยเพศ

มีสัตว์บางประเภทที่ถูกเรียกว่า แมงกะพรุน
เช่นกัน แต่พบอาศัยอยู่ในน้ำจืด คือ แมงกะพรุนน้ำจืด (Craspedacusta spp.) จัดเป็นแมงกะพรุนขนาดเล็ก พบในแหล่งน้ำจืดของสหรัฐอเมริกาและทวีปเอเชีย รวมทั้งประเทศไทยด้วย แต่ถูกจัดให้อยู่ในชั้นไฮโดรซัว
แมงกะพรุนชนิดที่ใหญ่ที่สุดในโลก คือ แมงกะพรุนขนสิงโต (Cyanea capillata) ที่เมื่อแผ่ออกแล้วอาจมีความกว้างได้ถึงเกือบ 3 เมตร และยาวถึง 37 เมตร ปรกติพบในอาร์กติก, มหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ และมหาสมุทรแปซิฟิคเหนือ

รายการบล็อกของฉัน