น้ำมูกทะเล ปกคลุมหนาในทะเล ประเทศตุรกี
น้ำมูกที่ไหลจากโพรงจมูกผู้คน คงเทียบสเกลความเยอะ ความหยึย ความเสียหาย และความอันตรายต่อร่างกาย กับท้องทะเลไม่ได้ เพราะผืนน้ำและสัตว์ทะเล ไม่มียาลดน้ำมูกให้บรรเทาอาการภายในไม่กี่ชั่วโมงเหมือนคน
ตุรกีกำลังเผชิญน้ำมูกทะเล ที่ปกคลุมทะเลมาร์มาราไปจนถึงทางใต้ของอิสตันบูล น่าเศร้าที่สุดคือ ตายทั้งสัตว์ทะเล และอาชีพชาวประมง
น้ำมูกทะเล หรือเมือกทะเล คือตะกอนสีเขียวที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ มีลักษณะเป็นสารเมือกหนานิ่มๆ คล้ายน้ำมูก ซึ่งเกิดจากการที่สาหร่ายทะเลได้รับสารอาหารมากเกินไป เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนขึ้นจนส่งผลให้อุณหภูมิในทะเลขึ้นสูง และมลพิษทางน้ำจากกองขยะ ของเสียในทะเลที่ไม่ผ่านการบำบัด และน้ำเน่า ส่งผลให้น้ำมูกเหล่านี้เต็มไปด้วยจุลินทรีย์ที่เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตที่พร้อมดูดออกซิเจนในน้ำจนพวกมันหายใจไม่ออก และตาย
Meric Albay ศาสตราจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ทางน้ำ มหาวิทยาลัยอิสตันบูลกล่าวว่า ความร้ายแรงที่กำลังจะเกิดขึ้นคือปลาไม่สามารถอพยพ ไม่สามารถวางไข่ และขยายพันธุ์ เนื่องจากน้ำมูกทะเลสามารถเคลือบเหงือกของสัตว์ทะเล ทำให้สัตว์เหล่านั้นขาดออกซิเจนจนตาย ดังนั้น หนทางรอดคือการมอบโอกาสให้ระบบนิเวศฟื้นตัวโดยการป้องกันมลพิษ หยุดจับปลาเกินขนาด และปกป้องพื้นที่นี้จนกว่าทะเลจะฟื้นคืนอีกครั้ง
น้ำมูกทะเล-ตุรกี
น้ำมูกทะเล ริมฝั่งทะเลมาร์มาราไปจนถึงทางใต้ของอิสตันบูล ประเทศตุรกี
ด้านรัฐบาลตุรกีกำหนดให้ทะเลมาร์มาราเป็นพื้นที่คุ้มครองภายในสิ้นปี 2021 และเข้าไปตรวจสอบโรงงานระบายความร้อน โรงงานปุ๋ย และอู่ต่อเรือ 3 แห่งที่ปล่อยมลพิษทางทะเล โดยสั่งให้ปิดตัว อีกทั้งเรียกค่าปรับจากโรงงาน 55 แห่ง และเรือ 9 ลำ รวม 1.16 ล้านดอลลาร์ฯ ที่ปล่อยของเสียโดยไม่ผ่านการบำบัดสู่ทะเล
ภัยคุกคามนี้ไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรก แต่ถูกพบในตุรกีตั้งแต่ปี 2007 และถูกค้นพบอีกครั้งในทะเลอีเจียนใกล้ประเทศกรีซ นั่นเป็นสิ่งที่บอกได้ว่า แม้ปัจจุบันรัฐบาลตุรกีจะออกแผนปฏิบัติการทำความสะอาดทะเลใน 7 จังหวัดตามแนวชายฝั่งของมาร์มารา แต่น้ำมูกทะเลยังคงไหลมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทำให้ชาวประมงไม่สามารถจับปลา ก้นทะเลเต็มไปด้วยเมือก หย่อนอวนลงไปก็เจอเมือกอุดตัน ดังนั้นชาวประมงในปี 2021 จึงขาดทุนถึง 80 เปอร์เซ็นต์ และต้องการความช่วยเหลือเยียวยาจากรัฐบาลโดยด่วน