Custom Search

บทความที่ได้รับความนิยม

วันอาทิตย์ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

ดำลึกดิ่งสู่ชาเลนเจอร์ดีพ จุดที่ลึกที่สุดบนโลก

Deepsea Challenger ที่ใต้ทะเล
หากถามว่า ยอดเขาอะไรสูงที่สุดในโลก คนจำนวนมากก็จะตอบได้ว่า ยอดเขาเอเวอร์เรสต์ แต่ถ้าถามว่า จุดที่ลึกที่สุดของโลกอยู่ที่ไหน เชื่อว่าจะมีคนที่ตอบได้น้อยกว่าคำถามแรก ดังนั้น ขอนำท่านสู่ห้วงลึกสุดลึก ที่ตราบจนถึงปัจจุบันนี้มีมนุษย์แค่ 3 คนเท่านั้นที่เคยไปถึงจุดที่ลึกที่สุดในโลกเรานั้นอยู่ใต้มหาสมุทร ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิก มันมีลักษณะเป็นเหวหรือร่องลึกอันเกิดจากเปลือกโลก 2 แผ่นที่เคลื่อนเข้าปะทะกันจนเกิดเป็นรอยแยกขึ้นมา

รอยแยกหรือร่องลึกพวกนี้เรียกว่า Trench ซึ่งร่องลึกที่สุดบนโลกมีชื่อว่ามาเรียน่า เทรนช์ 
(Mariana Trench) เรียกชื่อตามหมู่เกาะมาเรียน่า ซึ่งอยู่ใกล้จุดนั้น และหมู่เกาะนั้นก็ตั้งชื่อตามพระนามของราชินีมาเรียน่าแห่งออสเตรีย (Mariana of Austria) ผู้เป็นพระราชินีในกษัตริย์ฟิลิปที่ 4 ของสเปน มาเรียน่า เทรนช์อยู่ห่างจากประเทศฟิลิปปินส์ไปทางทิศตะวันออกราว 200 กิโลเมตร มีรูปร่างคล้ายพระจันทร์เสี้ยว มีความยาวถึง 2,500 กิโลเมตร และกว้าง 69 กิโลเมตร ซึ่งใหญ่กว่าพื้นที่แกรนด์แคนยอนถึง 120 เท่า จุดที่ลึกที่สุดของมาเรียน่า เทรนช์มีชื่อเรียกเฉพาะว่า ชาเลนเจอร์ดีพ (Challenger Deep) ซึ่งมีความลึกถึงเกือบ 11 กิโลเมตร ซึ่งเมื่อเทียบกับความสูงของยอดเอเวอร์เรสต์แล้ว มันสูงกว่าถึง 1.6 กิโลเมตร

มนุษย์เรารู้จักร่องลึกนี้มาตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 หลังจากที่เรือ H.M.S. Challenger ของสหราชอาณาจักร ได้ออกสำรวจมหาสมุทรต่างๆบนโลก ระหว่างปี ค.ศ.1872-1876 และได้ไปวัดความลึกของมาเรียน่า เทรนช์ เมื่อปี ค.ศ.1875 ครั้งนั้นวัดได้ความลึก 4,475 ฟาธอม หรือราว 8 กิโลเมตรเท่านั้น ซึ่งเป็นการวัดโดยใช้เชือกผูกน้ำหนักถ่วงที่ปลายแล้วหย่อนลงไป จากนั้นในปี 1951 เรือ H.M.S. Challenger II ได้กลับไปวัดใหม่อีกครั้ง โดยใช้อุปกรณ์ที่วัดความลึกจากเสียงสะท้อน (Echo sounder เป็นโซนาร์ในยุคแรกๆ) ซึ่งครั้งนั้นวัดได้ 11 กิโลเมตร
แผนที่แสดงบริเวณลึกที่สุดบนโลก
พื้นที่ส่วนใหญ่ของมาเรียน่า เทรนช์เป็นเขตที่สหรัฐอเมริกาประกาศเป็นพื้นที่อนุรักษ์ทางทะเล (Marianas Trench Marine National Monument) ทำให้การจะเข้าไปทำการวิจัยทุกชนิดที่นั่นต้องได้รับการอนุมัติจากทางการของสหรัฐฯ แต่ชาเลนเจอร์ดีพนั้นเป็นพื้นที่ของรัฐอิสระที่มีชื่อว่า ไมโครนีเซีย (Federated States of Micronesia)

ซึ่งการจะลงไปสำรวจที่นั่นก็ต้องขออนุญาตจากเขาเช่นกันในอดีตที่ผ่านมา มีมนุษย์เพียงสามคนเท่านั้นที่เคยลงไปที่นั่น สองคนแรกลงไปด้วยกันเมื่อวันที่ 23 มกราคม ค.ศ.1960 โดยใช้เรือดำน้ำลึกขนาดเล็กที่สร้างขึ้นเป็นพิเศษชื่อว่า Trieste ซึ่งจุดเด่นของเรือประเภทนี้คือ มีถังบรรจุน้ำมันเบนซินขนาดใหญ่อยู่ด้านบนห้องโดยสารที่ออกแบบไว้อย่างนั้น ก็เนื่องจาก น้ำมันเบนซินนั้นเบากว่าน้ำ ช่วยให้เรือสามารถลอยกลับขึ้นมาสู่ผิวน้ำได้ง่าย ขณะเดียวกันน้ำมันเบนซินก็สามารถรับแรงกดได้สูงกว่าน้ำ

ครั้งนั้นผู้ที่ลงไปพร้อมกับเรือดำน้ำ Trieste คือ ดอน วอลช์ (Don Walsh) ทหารเรืออเมริกัน และฌาคส์ พิคคาร์ด (Jacques Piccard) ชาวสวิส ซึ่งเดิมทั้งสองวัดระยะความลึกได้ถึง 11,521 เมตร แต่ภายหลังเมื่อคำนวณใหม่ก็ลดลงเหลือ 10,916 เมตร ซึ่งใกล้เคียงกับค่าที่วัดได้ในปัจจุบันที่ราว 11,000 เมตร จากระดับน้ำทะเล
ดอน วอลช์ และ ฌาคส์ พิคคาร์ด
การลงไปสำรวจใต้มหาสมุทรครั้งนั้น ใช้เวลาลงไปเกือบห้าชั่วโมงกว่าจะถึงจุดที่ลึกที่สุดซึ่งเมื่อไปถึงแล้วทั้งสองบรรยายสภาพภายนอกที่มองออกไปจากกระจกหนาของหน้าต่างห้องโดยสารว่า พื้นมีลักษณะเป็นหินที่บดละเอียดและไม่ฟุ้งกระจาย มีปลาและกุ้งรูปร่างแปลกๆให้เห็นจำนวนหนึ่ง แต่ทั้งสองใช้เวลาที่นั่นได้เพียง 20 นาที ก่อนที่จะต้องปลดน้ำหนักถ่วงกว่าเก้าตันและระบายน้ำจากถังเก็บออกเพื่อให้เรือลอยกลับขึ้นสู่ผิวน้ำเนื่องจากกระจกหน้าต่างเกิดรอยร้าวเวลากลับสู่ผิวน้ำนั้นใช้เวลาเพียงสามชั่วโมงกับสิบห้านาทีเท่านั้น

หลังจากความสำเร็จของดอน วอลช์ และฌาคส์ พิคคาร์ด ก็ไม่มีใครลงไปสำรวจที่นั่นอีก จนกระทั่งเมื่อปี 2012 ผู้กำกับหนังชื่อดัง เจมส์ คาเมรอน (ผู้กำกับเรื่อง Terminator, The Abyss, Titanic, Avatar) ได้ร่วมมือกับเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ลุยเดี่ยวลงไปที่ชาเลนเจอร์ดีพอีกครั้ง เขาใช้เรือดำน้ำทันสมัยชื่อ Deepsea Challenger เป็นพาหนะดำลงไป ทั้งนี้ วัตถุประสงค์ก็เพื่อประโยชน์ในการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ รวมทั้งได้ถ่ายภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวจำนวนมากกลับไปด้วย เรือซึ่งยาว 7.3 เมตร สามารถจุคนได้เพียงคนเดียว ลำนี้ใช้เวลาสร้างในออสเตรเลียนานเกือบแปดปี 
การเตรียมเรือดำน้ำออกสู่ทะเล
ตัวเรือติดตั้งไฟส่องสว่างขนาดใหญ่ กล้องถ่ายภาพใต้น้ำหลายกล้องและแขนกลแบบหุ่นยนต์หนึ่งแขน สำหรับตักตัวอย่างดินและสัตว์ตัวเล็กๆที่อยู่ตามพื้น Deepsea Challenger สามารถทนแรงกดได้ถึง 16,000 ปอนด์/ตร.นิ้ว มันยังต่างจากเรือดำน้ำลึกอื่นๆ ทั้งหมดที่ดำลงไปในแนวตั้งตลอด เช่นเดียวกับเวลาที่กลับขึ้นสู่ผิวน้ำ การออกแบบและสร้างที่ผิดพลาดไม่ได้เลย เพราะมันหมายถึงชีวิตของเขาเองที่อาจต้องทิ้งไว้ใต้บาดาลนั่น

คาเมรอนใช้เวลาในการดำดิ่งลงไปประมาณสองชั่วโมงเขาเล่าถึงความรู้สึกขณะอยู่ในเรือที่ต้องงอขาตลอดเวลาและยื่นแขนออกไม่ได้ว่า เวลาที่ยังอยู่บนผิวน้ำรู้สึกร้อนจัดเหมือนกับอยู่ในห้องเซาน่า แต่เมื่อดำลึกลงไปเรื่อยๆ ก็รู้สึกเย็นมากขึ้นๆ ราวกับอยู่ในตู้แช่ เช่นเดียวกับแสงสว่างที่ค่อยๆลดลงตามความลึกที่ดำลงไป จนมืดสนิทเมื่อผ่านความลึกที่ 3,300 ฟุตลงไป

นอกเหนือจากประโยชน์ในงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่ร่วมมือกับเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก สิ่งที่หลายคนคาดหวังจากการเสี่ยงชีวิตดำดิ่งลงไปของ เจมส์ คาเมรอน ในครั้งนี้ คือ หวังว่าเขาอาจได้แรงบันดาลใจบางอย่าง ที่อาจนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ให้ชาวบ้านได้รับชมกันต่อไปในอนาคต เช่นเดียวกับการสร้างภาพยนตร์เรื่องไททานิค ที่เขาต้องดำลงไปใต้มหาสมุทร แอตแลนติกถึง 33 ครั้ง เพื่อเก็บข้อมูล
เจมส์ คาเมรอน ในเรือดำน้ำ
เจมส์ คาเมรอน สัมภาษณ์ถึงความสำเร็จว่า เขาไม่ได้ลงไปเพื่อการสร้างสถิติแต่อย่างใด แต่เป็นความฝันและความอยากรู้แบบที่เกิดกับนักวิทยาศาสตร์ที่ต้องการรู้ต้องการเห็นบางสิ่งบางอย่าง และเขาหวังว่าสิ่งที่เขาได้จากการลงไปสำรวจของเขาจะเป็นประโยชน์ต่อความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ก่อนที่มนุษย์จะทำลายมันไป

ณ.จุดที่ลึกที่สุดใต้สมุทรของโลกนั้นแสงแดดส่องลงไปไม่ถึง น้ำจึงมีความเย็นจัด คือราว 1-4 ํc เท่านั้น ขณะที่แรงกดของน้ำสูงก็ถึง 1,000 เท่าของแรงกดที่ระดับน้ำทะเล จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่า เรือดำน้ำรวมทั้งอุปกรณ์ต่างๆที่ติดตั้งไปด้วยจะต้องมีความแข็ง แรงทนทานขนาดไหน และทำไมเรือ Deepsea Challenger จึงต้องใช้เวลาสร้างนานขนาดนั้น

นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า ใต้มหาสมุทรเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเลจำนวนมากที่ยังไม่รู้จัก ไม่นับสัตว์เล็กๆจำพวก Microbe (จุลินทรีย์) ประมาณกันว่าอีกกว่า 750,000 ชนิดของสัตว์น้ำใต้ทะเลที่นักวิทยาศาสตร์ยังไม่มีข้อมูล ซึ่งจากภาพถ่ายของเรือดำน้ำแบบไม่มีคนลงไปด้วย และจากการบอกเล่าของเจมส์ คาเมรอน ทำให้ทราบว่า ที่จุดลึกที่สุดของโลกนั้นพบว่ามีแต่สัตว์ขนาดเล็กจำพวกกุ้งและหนอนที่มีความยาวไม่เกินหนึ่งนิ้วอาศัยอยู่ แต่พบสัตว์พวก Microbe จำนวนมาก

ปี 1989 เจมส์ คาเมรอน ได้เป็นผู้เขียน บทและกำกับภาพยนตร์เรื่อง The Abyss เนื้อเรื่องเกี่ยวกับการลงไปกู้ซากเรือดำน้ำของสหรัฐฯที่จมลงใต้มหาสมุทรแอตแลนติกในจุดที่ลึกมาก ซึ่งครั้งนั้นเขาสร้างจากจินตนาการล้วนๆ และฉากใต้น้ำส่วนใหญ่ก็ทำในแท็งก์น้ำขนาดยักษ์ที่สร้างขึ้นเพื่อถ่ายทำโดยเฉพาะ แต่การลงไปสำรวจยังจุดที่ลึกที่สุดในโลกครั้งนี้เป็นของจริงทั้งหมด ซึ่งคาเมรอนได้ถ่ายเหตุการณ์ต่างๆเก็บไว้ทุกขั้นตอน ตั้งแต่การสร้างเรือ การทดสอบ จนถึงการนำไปใช้งานจริง รวมทั้งภาพจากกล้องหลายตัวที่ติดตั้งไปกับเรือดำน้ำ จนกระทั่งเมื่อเสร็จสิ้นภารกิจที่ใช้งบมหาศาลและต้องเอาชีวิตของตนเองไปเสี่ยง เขาจึงนำมาตัดต่อให้เป็นภาพยนตร์สารคดีเรื่อง Deepsea Challenger ในรูปแบบของ 3D ที่จะช่วยให้เราได้เห็นถึงการผจญภัยอันยิ่งใหญ่ และการท้าทายขีดจำกัดของมนุษย์ ณ จุดที่ลึกที่สุดบนโลกของเขาในครั้งนี้ เป็นอีกหนึ่งประสบการณ์บนจอภาพยนตร์ที่ต้องบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์การสำรวจของโลก.

รายการบล็อกของฉัน