Custom Search

บทความที่ได้รับความนิยม

วันพฤหัสบดีที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2564

ปริศนา ทะเลสาบโครงกระดูกบนเทือกเขาหิมาลัย

ทะเลสาบรุปคันด์ ทอดตัวอยู่ที่ก้นหุบเขาตรีศูล หนึ่งในยอดเขาสูงในเทือกเขาหิมาลัย

สูงขึ้นไปบนเทือกเขาหิมาลัยในเขตอินเดีย มีทะเลสาบอันห่างไกลซุกซ่อนอยู่ในหุบเขาที่ปกคลุมด้วยหิมะ และที่เบื้องล่างมีโครงกระดูกมนุษย์จำนวนมากกระจัดกระจายอยู่

ทะเลสาบรุปคันด์ (Roopkund Lake) ตั้งอยู่ที่ความสูง 5,029 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล และทอดตัวอยู่ที่ก้นหุบเขาตรีศูล (Trisul) หนึ่งในยอดเขาสูงที่สุดของอินเดีย ในรัฐอุตตราขัณฑ์ ทางภาคเหนือของประเทศ

"ทะเลสาบโครงกระดูก" แห่งนี้ถูกค้นพบโดยเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าชาวอังกฤษคนหนึ่งในปี 1942 ซึ่งที่เบื้องล่างเต็มไปด้วยโครงกระดูกมนุษย์กระจัดกระจายอยู่ทั่วพื้นที่

ตามปกติทะเลสาบแห่งนี้มักมีสภาพเป็นน้ำแข็งเกือบตลอดทั้งปี และจะสามารถมองเห็นโครงกระดูกได้ต่อเมื่อหิมะละลายแล้วเท่านั้น กระดูกบางชิ้นยังคงมีเนื้อติดอยู่อย่างเห็นได้ชัดและอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์

การประเมินในปัจจุบันคาดว่ามีโครงกระดูกของมนุษย์ประมาณ 600-800 คนที่นี่

คาดว่ามีโครงกระดูกของมนุษย์ประมาณ 600-800 คนที่นี่

👉"ทะเลสาบปริศนา" เป็นคำที่ทางการท้องถิ่นมักใช้เรียกพื้นที่จุดนี้ เพื่อดึงดูดให้นักท่องเที่ยวมาเยี่ยมเยือน

ขณะที่ทีมนักมานุษยวิทยาและนักวิทยาศาสตร์ต่างศึกษาโครงกระดูกเหล่านี้มานานกว่าครึ่งศตวรรษเพื่อไขปริศนาของสถานที่แห่งนี้

เจ้าของโครงกระดูกเหล่านี้คือใคร พวกเขาตายเมื่อใด ตายอย่างไร และมาจากที่ไหน

หนึ่งในทฤษฎีเก่าแก่ที่มีผู้ตั้งสมมุติฐานไว้คือ นี่คือกระดูกของกษัตริย์อินเดีย พระมเหสี และข้าราชบริพารของพวกเขาที่หายตัวไปในพายุหิมะเมื่อราว 870 ปีก่อน

ขณะที่อีกทฤษฎีระบุว่า นี่อาจเป็นกระดูกของทหารอินเดียที่พยายามรุกรานทิเบตในปี 1841 แต่ถูกโต้กลับ จึงทำให้ทหารกว่า 70 นายต้องหาทางกลับบ้านด้วยเส้นทางข้ามเทือกเขาหิมาลัยและล้มตายระหว่างทาง

ส่วนอีกข้อสันนิษฐานหนึ่งคือนี่อาจเป็น "สุสาน" ฝังผู้เสียชีวิตจากโรคระบาด โดยตามหมู่บ้านหลายแห่งในแถบนี้ มีบทเพลงพื้นบ้านที่เล่าขานเรื่องราวของเทพนันทาเทวีผู้ดลบันดาลให้เกิดพายุลูกเห็บ "ที่แข็งราวกับเหล็ก" ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนที่เดินทางผ่านทะเลสาบแห่งนี้ ขณะที่ยอดเขานันทาเทวี (Nanda Devi) ซึ่งเป็นยอดเขาสูงอันดับ 2 ของอินเดียถือเป็นที่เคารพสักการะของผู้คนในแถบนี้

👉โครงกระดูกโบราณ

การศึกษาในยุคต้น ๆ พบว่าเจ้าของกระดูกเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นคนตัวสูง "มากกว่าส่วนสูงโดยเฉลี่ย" และกระดูกที่พบส่วนใหญ่เป็นของผู้ใหญ่วัยกลางคนอายุระหว่าง 35-40 ปี ไม่พบกระดูกของทารกหรือเด็ก บางคนเป็นผู้หญิงสูงวัย และทั้งหมดเป็นผู้มีสุขภาพแข็งแรง

ขณะเดียวกันมีการสันนิษฐานว่า กระดูกที่พบเป็นคนกลุ่มเดียวกันซึ่งเสียชีวิตพร้อมกันในเหตุการณ์หายนะช่วงศตวรรษที่ 9

ส่วนผลการศึกษาล่าสุดที่ใช้เวลาวิจัย 5 ปี โดยคณะนักวิทยาศาสตร์ 28 คน จาก 16 สถาบันในอินเดีย สหรัฐฯ และเยอรมนี พบว่าข้อสันนิษฐานเหล่านี้อาจไม่ใช่เรื่องจริงเลย

ทีมนักวิทยาศาสตร์ได้วิเคราะห์ข้อมูลทางพันธุกรรม และตรวจหาอายุด้วยคาร์บอนกัมมันตรังสีจากโครงกระดูก 38 โครง ซึ่งในจำนวนนี้เป็นของผู้หญิง 15 คน พบว่าบางร่างมีอายุเก่าแก่ถึง 1,200 ปี

พวกเขายังพบว่าโครงกระดูกเหล่านี้ยังมาจากผู้คนที่มีความหลากหลายทางพันธุกรรม และระยะเวลาที่พวกเขาตายยังห่างกันมากถึง 1,000 ปี

"มันหักล้างข้อสันนิษฐานเรื่องการเสียชีวิตพร้อมกันในเหตุการณ์หายนะ" ดร. เอดีน ฮาร์นีย์ หัวหน้าทีมวิจัยครั้งนี้กล่าว "ยังไม่ชัดเจนว่าเกิดอะไรขึ้นที่ทะเลสาบรุปคันด์ แต่เราทราบแน่ชัดแล้วว่าการตายของคนเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นในคราวเดียวกัน"

แต่สิ่งที่น่าสนใจกว่า คือการศึกษาด้านพันธุกรรมที่บ่งชี้ว่าโครงกระดูกที่พบมาจากคนที่มีความหลากหลายทางพันธุกรรม โดยกลุ่มหนึ่งมีพันธุกรรมที่ใกล้เคียงกับผู้คนที่อาศัยอยู่ในทวีปเอเชียใต้ในปัจจุบัน ขณะที่อีกกลุ่มมีพันธุกรรมเป็น "ญาติใกล้ชิด" กับผู้คนที่อาศัยอยู่ในทวีปยุโรปในปัจจุบัน โดยเฉพาะผู้คนในเกาะครีตของประเทศกรีซ

นอกจากนี้ยังพบว่ากลุ่มคนที่มาจากเอเชียใต้ "ดูเหมือนจะไม่ได้มาจากประชากรกลุ่มเดียวกัน"

ดร. ฮาร์นีย์ ระบุว่า "บางคนมีบรรพบุรุษที่น่าจะเป็นกลุ่มประชากรที่มาจากทางตอนเหนือของอนุทวีป ขณะที่คนอื่นอาจมีบรรพบุรุษจากกลุ่มที่มักพบทางตอนใต้"

นี่จึงทำให้เกิดคำถามว่า กลุ่มคนที่มีความหลากหลายเหล่านี้เดินทางมายังทะเลสาบรุปคันด์เป็นกลุ่มเล็ก ๆ ในช่วงเวลาไม่กี่ร้อยปีที่ผ่านมาหรือ แล้วบางกลุ่มเสียชีวิตคราวเดียวกันในเหตุการณ์หนึ่งหรือไม่

👉ทางการท้องถิ่นมักเรียกพื้นที่จุดนี้ว่า "ทะเลสาบปริศนา" เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว

ไม่พบหลักฐานของอาวุธหรือสินค้าใด ๆ ในบริเวณนี้ ทะเลสาบรุปคันด์ไม่ใช่เส้นทางที่ผู้คนใช้เดินทางไปค้าขาย นอกจากนี้ผลการศึกษาทางพันธุกรรมยังไม่พบร่องรอยของเชื้อโรคโบราณที่อาจก่อโรคร้ายที่คร่าชีวิตผู้คนเหล่านี้

การจาริกแสวงบุญที่ต้องเดินทางผ่านทะเลสาบแห่งนี้อาจช่วยอธิบายว่าเหตุใดผู้คนจึงมาที่นี่ แม้ผลการศึกษาหลายชิ้นจะพบหลักฐานที่น่าเชื่อถือได้ว่าไม่มีการจาริกแสวงบุญในพื้นที่แถบนี้จนกระทั่งช่วงปลายศตวรรษที่ 19 แต่ข้อความจารึกในศาสนสถานท้องถิ่นที่มีอายุระหว่างศตวรรษที่ 8-10 นั้น "บ่งชี้ว่าการจาริกแสวงบุญอาจมีจุดเริ่มต้นที่เก่าแก่กว่านั้น"

ดังนั้น นักวิทยาศาสตร์จึงเชื่อว่าโครงกระดูกบางส่วนที่พบในทะเลสาบรุปคันด์อาจเกิดจาก "การเสียชีวิตหมู่ระหว่างการจาริกแสวงบุญ"

แต่ยังมีคำถามว่ากลุ่มคนจากดินแดนฝั่งตะวันออกของทะเลเมดิเตอร์เรเนียนมาจบชีวิตที่ทะเลสาบอันห่างไกลในเทือกเขาสูงเสียดฟ้าของอินเดียได้อย่างไร

ดูเหมือนไม่น่าจะเป็นไปได้ว่าผู้คนจากยุโรปจะรอนแรมมายังทะเลสาบรุปคันด์เพื่อแสวงบุญในศาสนาฮินดู

Roopkund Lake

หรือนี่อาจเป็นกลุ่มคนที่มีบรรพบุรุษมาจากฝั่งตะวันออกของทะเลเมดิเตอร์เรเนียนที่อาศัยอยู่ในบริเวณนี้มาหลายชั่วอายุคน

"เรายังต้องค้นหาคำตอบเหล่านี้ต่อไป" ดร. ฮาร์นีย์ กล่าว

รายการบล็อกของฉัน