Custom Search

บทความที่ได้รับความนิยม

วันจันทร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

มหาสมุทรดูดซับความร้อนของโลกไว้มากกว่าที่คาดถึง 60%

มหาสมุทรดูดซับความร้อนของโลกไว้มากกว่าที่คาดถึง 60%
ผลการศึกษาล่าสุดชี้ว่า มหาสมุทรดูดซับความร้อนของโลกเอาไว้เกินกว่าที่เคยคาดการณ์กันมาก
ทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยพรินซ์ตันและสถาบันวิจัยสคริปส์ของสหรัฐฯ เผยผลการศึกษาล่าสุดในวารสาร Nature ซึ่งชี้ว่า มหาสมุทรทั่วโลกดูดซับความร้อนส่วนเกินจากปรากฏการณ์เรือนกระจกเอาไว้มากกว่าที่เคยคาดกันถึง 60% ทำให้ความพยายามที่จะหยุดยั้งภาวะโลกร้อนเป็นไปได้ยากยิ่งขึ้น

ตลอดระยะเวลา 25 ปี ซึ่งอยู่ในช่วงระหว่างปี 1991-2016 ที่ผ่านมา ทีมผู้วิจัยพบว่ามหาสมุทรได้ดูดซับพลังงานความร้อนส่วนเกินของโลกไปถึงปีละกว่า 13 เซตตะจูล (Zettajoules) หรือเท่ากับหน่วยพลังงานที่มีค่าเป็นเลข 13 ตามด้วยเลขศูนย์ 21 ตัว

พลังงานความร้อนดังกล่าวทำให้มหาสมุทรมีอุณหภูมิสูงขึ้นโดยเฉลี่ย 6.5 องศาเซลเซียสต่อรอบหนึ่งทศวรรษ ซึ่งนับว่าสูงกว่าค่าประมาณการของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ของสหประชาชาติ ที่เผยออกมาเมื่อปี 2014 ซึ่งค่าประมาณการเดิมคาดว่ามหาสมุทรมีอุณหภูมิสูงขึ้นโดยเฉลี่ย 4.5 องศาเซลเซียสต่อรอบหนึ่งทศวรรษ

พลังงานความร้อนที่มหาสมุทรดูดซับจากพื้นผิวและบรรยากาศโลกในแต่ละปี คิดเป็น 150 เท่าของพลังงานที่ใช้ผลิตไฟฟ้าทั่วโลกในช่วงเวลาเดียวกัน ซึ่งนับเป็นปริมาณความร้อนที่สูงกว่าค่าประมาณการเดิมถึง 60%
ผู้วิจัยระบุว่าระดับน้ำทะเลอาจเพิ่มสูงขึ้นเร็วกว่าที่เคยมีการทำนายไว้
ก่อนหน้านี้นักวิทยาศาสตร์ทราบเพียงว่า มหาสมุทรดูดซับความร้อนส่วนเกินที่เกิดจากภาวะโลกร้อนไปทั้งหมดราว 90% แต่ไม่ทราบถึงแนวโน้มตัวเลขของค่าพลังงานความร้อนในแต่ละปีอย่างแน่นอน ทำให้ยากที่จะประมาณการเพื่อวางแผนรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศได้อย่างถูกต้อง

ดร. ลอร์ เรสแพลนดี ผู้นำทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยพรินซ์ตันบอกว่า ผลการค้นพบนี้ทำให้น่าเป็นห่วงว่าประชาคมนานาชาติจะไม่สามารถบรรลุถึงเป้าหมายของ IPCC ซึ่งมุ่งควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียสได้
"แผนการหยุดยั้งภาวะโลกร้อน ที่จะจำกัดไม่ให้อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียสจากระดับในช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรมนั้น เดิมก็ถือว่าเป็นไปได้ยากมากอยู่แล้ว แต่การค้นพบของเรายิ่งชี้ว่า แผนการนี้มีความยากลำบากยิ่งขึ้นไปอีกหลายเท่าตัว เพราะความร้อนในมหาสมุทรทำให้โลกรองรับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้น้อยลง" ดร. เรสแพลนดีกล่าว
ความร้อนที่เพิ่มขึ้นทำให้ระดับออกซิเจนในน้ำทะเลลดต่ำลง ส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลจำนวนมาก
นอกจากนี้ มหาสมุทรที่ร้อนขึ้นจะปลดปล่อยก๊าซออกซิเจนและคาร์บอนไดออกไซด์ออกมามากขึ้น ทำให้ระบบนิเวศใต้ทะเลได้รับผลกระทบจากปริมาณออกซิเจนที่ลดต่ำลง การขยายตัวของน้ำเนื่องจากความร้อน (Thermal expansion) 
ยังทำให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงเร็วขึ้นอีกด้วย
ทั้งนี้ ทีมผู้วิจัยใช้วิธีตรวจวัดความร้อนในมหาสมุทรที่แม่นยำมากขึ้นในการศึกษาครั้งล่าสุด 

โดยนอกจากจะใช้ข้อมูลของทุ่นสำรวจติดเซ็นเซอร์วัดอุณหภูมิและความเค็มของน้ำทะเลในโครงการ Argo เกือบ 4,000 ตัว ที่ติดตั้งอยู่ทั่วโลกแล้ว ยังใช้การวัดปริมาณออกซิเจนและคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศ ซึ่งมหาสมุทรคายออกมาเมื่อมีอุณหภูมิสูงขึ้นอีกด้วย ซึ่งวิธีนี้ทำให้ทราบถึงข้อมูลเก่าที่ย้อนหลังไปได้หลายปี และนำมาคำนวณเพื่อทราบถึงความร้อนที่เพิ่มขึ้นในท้องทะเลได้

ดร. เรสแพลนดียังเตือนว่า พลังงานความร้อนมหาศาลที่มหาสมุทรดูดซับเอาไว้นั้น อาจถูกคายกลับคืนออกมาได้อีกในช่วงหลายร้อยปีข้างหน้า ตามวงจรการเปลี่ยนแปลงของกระแสน้ำที่ควบคุมการดูดซับและคายความร้อนของมหาสมุทร ซึ่งหมายความว่าการหยุดยั้งภาวะโลกร้อนในอนาคตหลายศตวรรษข้างหน้า มีสถานการณ์ยากลำบากที่น่ากลัวรออยู่

รายการบล็อกของฉัน