ค้นหา
Custom Search
ทะเลสาบไนยอสแห่งนี้ ตั้งอยู่บนปากปล่องภูเขาไฟ ในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของแคเมอรูน มันมีอีกชื่อว่า ทะเลสาบมรณะ จากการเกิดปรากฏการณ์ Limnic Eruption หรือการที่ภูเขาไฟมีการปะทุในลักษณะการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ไหลรั่วลงน้ำและอากาศรอบบริเวณภูเขาไฟ จนเป็นเหตุให้มีการตายหมู่ของผู้คนและสัตว์กว่าหลายพันชีวิต
ทะเลสาบแห่งนี้ เกิดขึ้นจากน้ำขังสะสมเหนือปากภูเขาไฟที่สงบไปแล้วกว่า 400 ปี โดยมันมีความกว้างกว่า 206 ตารางกิโลเมตร ความลึกสูงสุดที่ 208 เมตร
โดยในส่วนลึกนั้น แม็กม่าใต้พื้นโลกได้ทำการไหลเวียนอย่างสม่ำเสมอ ก๊าซจึงค่อยๆไหลรั่วขึ้นมาผสมกับน้ำ จากความลึกและตำแหน่งของทะเลสาบ อยู่ในบริเวณเส้นศูนย์สูตร มีอุณหภูมิสม่ำเสมอทั้งปี สภาพน้ำในทะเลสาบนั้นนิ่งสนิท ส่งผลให้ทะเลสาบกลายเป็นแหล่งสะสมคาร์บอนไดออกไซด์ตลอดมาโดยไม่สร้างปัญหาแต่อย่างไร
จนเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 1986 ได้มีชาวแคเมอรูนเดินทางไปยังหมู่บ้านใกล้ทะเลสาบไนยอส เขาพบกับซากนก วัว สุนัข รวมถึงชาวบ้านที่เสียชีวิตในพื้นที่รอบหมู่บ้าน ทุกคนอยู่ในสภาพดี ไม่มีบาดแผล ไม่มีเลือด ไม่มีแม้ร่องรอยการต่อสู้ คล้ายกับว่าจู่ๆก็เสียชีวิตไปเฉยๆระหว่างที่ตัวเองกำลังทำกิจกรรมต่างๆอยู่ ด้วยความสยอง เขาจึงรีบกลับเข้าเมืองเพื่อแจ้งข่าวให้ทางการรับรู้ทันที
แต่ด้วยการสื่อสารและสภาพพื้นที่ กว่าทีมแพทย์และเจ้าหน้าที่รัฐบาลจะมาถึงหมู่บ้านแห่งนี้ก็ผ่านมา 2 วัน แม้จะพบผู้รอดชีวิต แต่ก็มีชาวบ้านบางส่วนเลือกที่จะจบชีวิตตามญาติพี่น้องของตนเองไป เมื่อได้ยินข่าวชาวแคเมอรูนบางส่วนเชื่อว่า พวกเขาอาจทำอะไรผิดไปจึงถูกวิญญาณบรรพบุรุษที่อาศัยอยู่ในทะเลสาบลงโทษ
หลังจากนั้นทีมสอบสวนจากนานาชาติ พร้อมด้วยผู้เชี่ยวชาญทางธรณีวิทยาได้เข้าสำรวจพื้นที่ พวกเขาได้ทำการทดสอบเบื้องต้น ผลการรายงานแจ้งว่า สภาพแวดล้อมและอุณหภูมิของทะเลสาบเป็นปกติดี ไม่ได้มีการปะทุของภูเขาไฟ คล้ายกับเหตุการณ์เมื่อสองปีก่อนที่ทะเลสาบโมนูน (Monoun Lake) ซึ่งห่างจากที่นี่ไปทางใต้ราว 100 กิโลเมตร โดยวันที่ 15 สิงหาคม 1984 ได้มีผู้เสียชีวิตโดยไม่ทราบสาเหตุจำนวน 37 คน พวกเขาพบว่า ทะเลสาบทั้งสองแห่งมีลักษณะทางกายภาพคล้ายกัน คือเป็นทะเลสาบที่เกิดขึ้นจากปากปล่องภูเขาไฟเหมือนกัน
เมื่อหาสาเหตุจากสภาพแวดล้อมไม่ได้ ผู้เชี่ยวชาญจึงเล็งไปทางทะเลสาบ พวกเขาได้หย่อนขวดเพื่อเอาน้ำใต้ทะเลสาบขึ้นมาตรวจสอบ และทันทีที่ขวดเก็บตัวอย่างน้ำลึกถูกดึงขึ้นมาบนผิวน้ำมันก็ได้ระเบิดออก พวกเขาจึงคิดหาวิธีการเก็บน้ำหลากหลายครั้งจนประสบความสำเร็จ ผลการรายงานพบว่า จำนวนก๊าซคาบอนไดออกไซต์ในน้ำมีค่อนข้างมาก ซึ่งน่าจะเกิดจากหินหลอมเหลวและเถ้าภูเขาไฟใต้ทะเลสาบนั่นเอง
รวมถึงคำให้การของชาวบ้านผู้รอดชีวิต พวกเขาได้เล่าว่า ได้ยินเสียงระเบิดดังกึกก้อง ผู้เชี่ยวชาญจึงสันนิษฐานกันว่า คงมีก้อนหินหรืออะไรบางอย่างตกลงสู่ก้นทะเลสาบ ทำให้คาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งสะสมมาหลายร้อยปีกระจายไปทั่วบริเวณ นักวิทยาศาสตร์คาดว่า ภายในเวลาแค่ 20 วินาทีของวันเกิดเหตุ คาร์บอนไดออกไซด์ได้กระจายออกมามากถึง 1.2 ลูกบาศก์กิโลเมตร ด้วยความเร็วกว่า 72 กิโลเมตร/ชั่วโมง ทำให้สิ่งมีชีวิตใกล้บริเวณทะเลสาบแทบไม่มีโอกาสรอด
ปริมาณการระเบิดที่มากมายกระจายไปไกลเกือบ 100 เมตร ต้นไม้รอบทะเลสาบที่สูงขึ้นไปกว่า 80 เมตร ตายหมด สันนิษฐานกันว่า น้ำที่เต็มไปด้วยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สาดกระเด็นไปโดน ซึ่งโดยปกติแล้วอากาศจะมีก๊าซนี้อยู่เพียง 0.05 % เมื่อถูกปล่อยในปริมาณมากๆ มันจะกดลงต่ำ และไล่ออกซิเจนลอยขึ้นสูง ทำให้สิ่งมีชีวิตไม่มีอากาศหายใจ จนกว่าจะมีลมพัดให้พวกมันลอยหายไป
แค่มีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 5% เทียนไขและเครื่องยนต์จะดับลง หากมี 10% จะสามารถทำให้สิ่งมีชีวิตโคม่าสักระยะหนึ่งก่อนเสียชีวิตลง เมื่อมีถึง 30% สิ่งมีชีวิตจะตายภายในเวลาไม่กี่วินาที รวมถึงการที่ทะเลสาบอยู่ไม่ห่างจากตัวเมือง ระยะการเดินทางเพียง 30-40 กิโลเมตร ทำให้มีผู้คนอาศัยอยู่รอบทะเลสาบเป็นจำนวนมาก จึงเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 1,700 คนและสัตว์อีกกว่า 3,500 ตัว
เมื่อทราบสาเหตุแล้ว ปัญหาที่ตามมาคือการระเบิดครั้งนี้จะไม่ใช่ครั้งสุดท้าย เหล่านักวิทยาศาสตร์จึงคิดหาวิธีที่ดีที่สุด ซึ่งไม่ทำให้ประเทศแคเมอรูนล่มละลายและทุนสำหรับประเทศที่ต้องการความช่วยเหลือจะไม่หมดลงไปซะก่อน พวกเขาได้วางท่อลึกลงไปจนถึงก้นทะเลสาบแล้วสูบน้ำขึ้นมา แรงดันที่ได้จะมากพอที่จะทำให้น้ำพุ่งสูงขึ้นไปบนอากาศราว 13.7 เมตร คาดการณ์ว่าทะเลสาบไนยอสต้องใช้ 5 ท่อ ส่วนทะเลสาบโมนูน 3 ท่อ จึงจะเพียงพอที่จะไม่ทำให้เกิดการระเบิดในอนาคต ซึ่งในตอนนี้มีเพียงอย่างละท่อเท่านั้น